เกมล่าออนไลน์ Pokemon Go ป่วนโลกจริง

กระแสที่มาแรงที่สุดในตอนนี้ ไม่มีอะไรเกิน "โปเกมอน โก" เกมที่ต้องออกเดินทางไปยังสถานที่จริงตามจีพีเอส เพื่อจับตัวการ์ตูนจากเรื่องโปเกมอน ที่เริ่มฮือฮาเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาราว 1 เดือนกว่า ๆ และเพิ่งเข้ามาเมืองไทยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ทันทีที่เปิดตัวในเมืองไทย เกมนี้ก็ฮิตติดลมบนเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ แรงพอ ๆ กับ "ประชามติ" 

หลังจากที่เป็นที่นิยมไปทั่ว เกมนี้ก็ถูกพูดถึงในหลากหลายแง่มุม ทั้งในแง่บวกที่ว่า เกมนี้ดีทำให้คนได้ออกจากบ้านไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้ามากขึ้น ได้ออกกำลังกาย ได้ออกไปทำความรู้จักพื้นที่จริง ฯลฯ ส่วนในแง่ลบก็มีทั้งการเล่นจนเกิดอุบัติเหตุ มีการโจรกรรม จี้ปล้น มีการท้วงติงว่าเข้าไปเล่นในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม และยังมีดราม่าวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เอาเวลาไปหาพ่อแม่ดีกว่าไหม ฯลฯ 

ทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้น มันมาพร้อมความน่าสนใจหลากหลายแง่มุมเสมอ "โปเกมอน โก" ก็เช่นกัน 

มาร่วมไขคำตอบของ "เกม" ที่ไม่ได้อยู่แค่ในโลกเสมือนจริงอีกต่อไป แต่มันได้ออกมาโลดแล่นบนโลกแห่งความจริงไปพร้อมกัน 



- "ชาวเน็ตคนดัง" มองปรากฏการณ์ภาพรวม 

"แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล" ชาวเน็ตคนดังรุ่นแรก ๆ ผู้มีชื่อเสียงจากการก่อตั้งเว็บไซต์ exteen.com ปัจจุบันเขาเป็นนักเขียน-คอลัมนิสต์-บรรณาธิการเว็บไซต์ ผู้เฝ้ามองเทรนด์ในโลกไซเบอร์ วิเคราะห์เหตุผลที่เกมโปเกมอน โก ได้รับความนิยมโดดเด่นขึ้นมามากกว่าเกมอื่น ๆ เพราะว่า 

1.พลังของแคแร็กเตอร์ ตัวการ์ตูนเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว 

2.เป็นการเติมเต็มความฝันของคนในอดีตที่ว่าถ้าโปเกมอนมีจริงในโลกที่เราอยู่จะเป็นอย่างไร 

3.พลังของไวรัลที่ใช้ Augmented Reality เข้ามาผสม สามารถเปิดกล้องถ่ายภาพมาโพสต์ในโซเชียลมีเดียได้ เป็นภาพเฉพาะที่คนอื่นไม่มี เป็นเหมือนเครื่องมือผลิตมีม (Meme) ถ้าไม่สามารถเปิดกล้องถ่ายภาพออกมาได้ก็อาจจะไม่พ็อปขนาดนี้

ส่วนความนิยมในเกมโปเกมอน โก จะเป็นแค่กระแสชั่วคราวหรือจะอยู่นาน แชมป์มองว่า "ตอนนี้สังคมมีคนเล่นโปเกมอน โก ล้นเกินกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ต่อไป เกมนี้น่าจะอยู่รอดในอนาคต แต่จะเหลือแค่แฟนพันธุ์แท้ คือจะลดลง 5 เท่าของตอนนี้ 

ยังคาดเดาไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ แต่คิดว่าเจ้าของลิขสิทธิ์จะหาทางทำให้กระแสนี้อยู่นานที่สุด ถ้าทุกอย่างเหมือนเดิมไม่มีอะไรอัพเดตกระแสก็น่าจะอยู่ในระยะ 3-6 เดือน ถ้ามีอะไรพัฒนาอัพเดตอีกก็น่าจะอยู่ไปเรื่อย ๆ แต่กระแสจะตกลงไปเรื่อย ๆ"

แชมป์มองปรากฏการณ์โปเกมอน โก ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่าไม่มีอะไรต่างจากต่างประเทศมาก ที่ต่างคือในบ้านเรารัฐบาลเข้ามาควบคุมมากกว่ารัฐอื่น ๆ 

"จะเห็นว่ามีข่าว กสทช.เรียกทรูเข้าไปคุย ในต่างประเทศรัฐบาลแค่เตือนว่าอะไรที่ควรระวัง เป็นการใช้อำนาจเชิงอ่อนนุ่มมากกว่า แต่บ้านเรามีลักษณะเป็นศูนย์รวมอำนาจ ส่วนปัญหาอื่น ๆ ก็เหมือนการฉายหนังซ้ำต่างประเทศ มีอุบัติเหตุ และมีมิจฉาชีพใช้ลัวร์ (เหยื่อล่อโปเกมอน) เพื่อล่อคนเล่นไปยังสถานที่เกิดเหตุแล้วจี้ชิงทรัพย์"

สำหรับปัญหาที่มีการใช้สถานที่ที่ไม่เหมาะสม แชมป์มองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเกม แต่คือการที่สังคมจะสื่อสารในมิติใหม่อย่างไร โปเกมอน โก คือการสร้างความหมายใหม่ให้พื้นที่ และมีคนเห็นความหมายแบบเดียวกัน 

"ผมคิดว่าทุกอย่างควรขึ้นกับข้อตกลงของสังคม อย่างที่มีการพูดกันว่าควรกำหนดไม่ให้มีโปเกมอนในบางพื้นที่ หรือให้เกิดโปเกมอนในบางพื้นที่ได้ไหม ถ้าเราตกลงกันได้ก็ไม่มีปัญหา

เรื่องความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ในตอนแรกที่เปิดตัว เกมนี้ขอข้อมูลผู้เล่นเยอะมาก แต่ตอนนี้ปรับมาใช้แค่บัญชีอีเมล์ ปัญหาเรื่องเจ้าของพื้นที่กังวลเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ในต่างประเทศก็มีเหมือนกัน มีคนที่บ้านเขาเป็น PokeStop 

เขาไม่สบายใจแล้วไปร้องเรียนให้เอาป้ายออกจากบ้านเขา และมีประเด็นเซนซิทีฟเรื่องผิวสี คือมีคนผิวสีไปส่องโปเกมอนใกล้บ้านคนอื่น แล้วตำรวจมองว่าเขาเป็นมิจฉาชีพ" 

อีกหนึ่งข้อกังวลว่าในตอนที่เปิดกล้องถ่ายภาพ แอปจะแอบเก็บข้อมูลภาพของผู้เล่นไปหรือไม่ ทีปกรคิดว่า "ภาพที่ถ่ายนั้นจะไม่ปรากฏเป็นสาธารณะ มีเพียงตัวผู้เล่นเท่านั้นที่เห็น แต่ก็มีทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า โปเกมอน โก เป็นเครื่องมือสายลับสอดแนมของอเมริกา แต่ผมคิดว่าไม่จริง ในมุมของผู้เล่นเกมไม่ต้องกังวลขนาดนั้น ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องความปลอดภัยขณะเล่นมากกว่า ต้องระวังเรื่องอุบัติเหตุต่าง ๆ"

ทีปกรแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เกมโปเกมอน โก เป็นแอปพลิเคชั่นที่เปิดทางไปสู่การเกิดขึ้นมาของแอปที่กำหนดความหมายใหม่ให้สถานที่อีกเยอะ ปัญหาในอนาคตไม่ได้อยู่ที่เกมโปเกมอน โก แต่จะอยู่ที่การกำหนดความหมายของสถานที่ว่าเราจะตกลงใช้สถานที่กันอย่างไร วัดจะไม่ใช่แค่วัดแบบเดิม แต่จะมีคนไปใช้สถานที่เพื่อทำอย่างอื่นด้วย 



- การตลาด "โปเกมอน" ดึงดูดลูกค้า

ปรากฏการณ์โปเกมอน โก ฟีเวอร์ ไม่ใช่แค่เรื่องคนคลั่งการเล่นเกม แต่มันยังมีหลากหลายแง่มุมน่าสนใจ ซึ่งที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งก็คือการใช้โอกาสจากกระแสนี้ทำประโยชน์ทางการค้าและธุรกิจ มีทั้งทำโดยการซื้อลัวร์ (เหยื่อล่อ) ให้ร้านของตัวเองเป็น PokeStop จะได้มีตัวการ์ตูนในเกมโปเกมอน โก มาปรากฏตัวที่ร้าน เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้าน โดยราคาลัวร์อยู่ที่ชั่วโมงละ 60 บาท วิธีนี้เป็นวิธีใช้ประโยชน์จากเกมโปเกมอน โก แบบแรกที่มีร้านในต่างประเทศใช้ดึงดูดลูกค้ากันไปก่อนแล้ว พอเข้ามาเมืองไทยปุ๊บ ก็มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ใช้วิธีนี้ดึงดูดลูกค้าเช่นกัน 

นอกจากนั้นยังมีการตลาดแบบอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ร้านลิ้มเหล่าโหงว บิสโทร ที่สยามสแควร์วัน ใช้ลูกเล่นออกแถลงการณ์ขอโทษลูกค้าเนื่องจากมีผู้พบสิ่งปลอมปนในอาหาร แต่ในรายละเอียดสาระของแถลงการณ์ปรากฏว่าเป็นมุขการตลาดที่บอกว่ามีผู้พบโปเกมอนในอาหาร เนื่องจากที่ร้านมีโปเกมอนเยอะ ทางร้านจึงมีกิจกรรมให้ลูกค้าร่วมสนุกโดยถ่ายรูปที่มีโปเกมอนในชามอาหาร แชร์ลงเฟซบุ๊ก แล้วรับรางวัลจากทางร้าน

ล่าสุดค่ายมือถือรายใหญ่ ทรูมูฟ เอช ก็ร่วมกับทรูช็อป ออกกิจกรรมให้ถ่ายภาพจับโปเกมอนที่ทรูช็อปแชร์ลงเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เพื่อรับเน็ตฟรี 500 MB หลังจากนี้น่าจะมีสารพัดโปรโมชั่นออกมาให้เห็น 

- "โปเกมอน โก" สร้างโอกาส-เกิดธุรกิจใหม่

นอกจากห้าง ร้าน สถานประกอบการจะใช้โปเกมอนในเชิงการตลาดดึงดูดคนเข้าใช้บริการแล้วยังมีธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นรับกระแสนี้ มีตั้งแต่ระดับย่อยบุคคลอย่าง จ้างเพื่อนที่จะไปวิ่งที่สวนลุมให้เอาโทรศัพท์ไปเก็บโปเกมอนให้ ขยับมาเป็นการออกบริการเสริมจากบริการหลักอย่างวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างขับตามหาโปเกมอน เช่นกันกับบริการเรียกแท็กซี่ ทั้งอูเบอร์ และแกรบ ก็ต่างออกโปรโมชั่นพิเศษสำหรับคนที่ต้องการนั่งแท็กซี่ออกล่าโปเกมอน

ขยายใหญ่ไปจนถึงแพ็กเกจทัวร์จับโปเกมอนระดับโลก อย่างในประเทศออสเตรเลียมีบริษัทนำเที่ยวชื่อ บริษัทเก็ตโค้ แอดเวนเจอร์ ทำแพ็กเกจทัวร์จับโปเกมอนทั่วโลก ราคาแพ็กเกจละ 7,300 เหรียญออสเตรเลีย (1.94 แสนบาท) ซึ่งเส้นทางที่บริษัทวางแผนไว้จะเริ่มที่หมู่เกาะกาลาปากอส เปรู และอีกหลายประเทศ จนมาจบที่ประเทศไทยของเราด้วย 

ด้านการท่องเที่ยวก็ตื่นตัวไม่แพ้กัน "ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร" ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.เล็งคุยเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ผลิตเกมโปเกมอน โก ลิมิเต็ดเอดิชั่นในไทย โดยชูสังเวียนมวยเป็นที่ประลอง เพื่อให้บริษัทนำเที่ยวที่พานักท่องเที่ยวมาจับโปเกมอนหายากในไทย เช่น โปเกมอนแต่งชุดมวยคาดเชือกในสนามมวย หรือให้โปเกมอนได้ต่อสู้บนสังเวียนมวยจริง หลังมวยไทยโด่งดังไปทั่วโลก ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ 

นอกจากนั้นยังมีคนที่หนุนให้ใช้ประโยชน์จากเกมในด้านอื่น อย่างฝั่งนักวิชาการ "พิพัฒน์ กระแจะจันทร์" อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ออกไอเดียว่า น่าจะคุยกับผู้พัฒนาเกมให้ตัวโปเกมอนไปปรากฏตัวในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ วัด โบราณสถาน และห้องสมุด เพื่อสนับสนุนให้คนเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่เหล่านี้มากขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้เข้าใจปัญหาผังเมือง ได้รู้จักการสำรวจสถานที่ ซึ่งอาจจะพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ 



- ค่ายมือถือยิ้มหน้าบาน

แน่นอนว่าผู้ได้รับประโยชน์จากความนิยมในเกมโปเกมอน โกโดยตรง คือบริษัทผู้ผลิตและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เกม แต่ผู้ได้รับประโยชน์อีกฝั่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เพราะการเล่นเกมนี้ต้องใช้ดาต้าเยอะมาก เมื่อใช้จนเกินแพ็กเกจปกติแล้วก็ต้องซื้อเพิ่ม ค่ายมือถือยิ้มรับกันทุกค่ายแน่นอน

"โปเกมอน โก" ป่วนเมือง แจ้งลบพิกัดละเมิด 

ในข้อดีย่อมมีข้อเสีย หากไม่รู้จักเล่นอย่างเหมาะสม กสทช.เตรียมส่งอีเมล์ถึงเจ้าของเกมโปเกมอน โก แจ้งลบพิกัดในพื้นที่ต้องห้าม 4 ประเภท ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงอันตราย ศาสนสถาน สถานที่ราชการ และพื้นที่ส่วนบุคคล คาดได้คำตอบกลางสัปดาห์หน้า โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยนั้นไม่ได้ปิดกั้น แต่ต้องการให้มีการเล่นเกมอย่างมีความปลอดภัย รวมถึงหน้าบ้านใครหรือสถานที่ส่วนบุคคลที่ต้องการจะลบพิกัดเพื่อป้องกันไม่ให้นักล่าโปเกมอน มารุกล้ำก็สามารถทำได้ 

สำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ "ไม่อิน" กับเกมการ์ตูนดังกล่าว เกิดความรู้สึกไม่สะดวกใจ เนื่องจากไม่ต่างอะไรกับการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุมาถึงตนได้ หากผู้เล่นโปเกมอน โก มัวแต่สนใจเกมในระหว่างขับรถ ขณะเดียวกันฝั่งตัวผู้เล่นเอง ถึงจะมองว่าเป็นสิทธิที่กระทำได้และไม่รบกวนใคร แต่ก็อาจไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า โปเกมอน โก สามารถชักนำตนไปยังเหตุอันตรายไม่คาดฝันได้เช่นกัน

โปเกมอน โก พาไปพื้นที่เสี่ยง 

มองกันในแง่พื้นฐานของเกม "โปเกมอน โก" ดูไม่มีพิษมีภัยอะไรนัก แต่ด้วยลักษณะการเล่นที่ต้องเดินทางออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ บวกกับความเพลิดเพลินของเกมโปเกมอน โก จึงอาจเป็นตัวดึงให้ผู้เล่นเดินเข้าสู่พื้นที่เปลี่ยวโดยลำพัง จนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรที่พร้อมจะฉกชิงวิ่งราว ทำร้ายร่างกายได้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ดังที่มีกรณีตัวอย่างเป็นหนุ่มวัย 17 ปีแห่งเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่โดนแทงได้รับบาดเจ็บ เพียงเพราะไปล่าโปเกมอนในสายตาโจร 

จากเกมสู่แนวทางกฎหมาย ไม่เพียงแค่การรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลหรือสถานที่ แต่ยังเลยไปถึงเรื่องความมั่นคงของชาติ เหตุจากการสแนปภาพพื้นที่หวงห้าม สถานที่สำคัญ สถานที่ราชการต่าง ๆ ภาครัฐของไทยเองก็ได้ตื่นตัว เริ่มมองมาตรการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากเกมโปเกมอน โก 

ข้อห้าม-แบน โปเกมอน โกŽ 

สถานการณ์ปัจจุบันของ "โปเกมอน โก" ถือเป็นวาระระดับโลก เพราะนานาชาติเองก็ต่างจับตาเกมดังกล่าว ในหลากประเด็น โดยมีประเทศนำร่องแบนไปก่อนแล้วอย่าง "อิหร่าน" ระบุเหตุผลว่ามีความกังวลเรื่องความปลอดภัย จากการที่ประชาชนเดินเข้าออกตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน

นี่เป็นอีกจุดเชื่อมหนึ่งของโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ ที่กำลังถูกกลืนเป็นโลกเดียวกัน ในยุคที่โลกไร้พรมแดนอย่างแท้จริง

เกมล่าออนไลน์ Pokemon Go ป่วนโลกจริง

ขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.prachachat.net/


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์